ก่อนวิ่ง แวะอ่านตรงนี้สักนิด
เทรนด์วิ่งกำลังมาทั่วประเทศไทย แต่จะวิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย และมีสุขภาพที่แข็งแรง วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
การวิ่ง นอกจากได้เสียเหงื่ออย่างฟินๆ แล้ว ยังช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ และช่วยให้การทำงานของหัวใจ, ปอดดีขึ้น
แต่การวิ่งก็เหมือนการออกกำลังกายประเภทอื่นที่มีข้อพึงระวัง ไม่ใช่ว่า ถ้ารู้สึกอยากจะวิ่งก็ออกไปวิ่งได้เลย เพราะการวิ่งโดยปราศจากความรู้ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
คุณหมอภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำคลินิกการวิ่ง โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท มีคำแนะนำถึงวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้ค่ะ
"เราเจอคนบาดเจ็บที่เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกจากการวิ่งเยอะมาก เพราะคนที่เริ่มวิ่งจำนวนไม่น้อย เข้าใจว่า แค่เริ่มวิ่งก็พอ แต่ขาดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บเหล่านั้น เพราะคนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ทำงานนั่งโต๊ะ ไม่ค่อยได้ใช้กล้ามเนื้อ และจะหวังว่า การวิ่งออกกำลังวันละไม่กี่นาที จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มันไม่มีทาง เราจึงควรออกกำลังกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วย"
ซึ่งการออกกำลังกล้ามเนื้อคือ การออกกำลังเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เช่น การทำ Body Weight อย่างการเขย่งปลายเท้าเพื่อสร้างกล้ามเนื้อน่องที่แข็งแรง หรือการกางขาออกด้านข้างแล้วยกขึ้นลงเพื่อสร้างกล้ามเนื้อสะโพกด้านข้าง ซึ่งเหล่านี้สามารถทำที่ไหนก็ได้ด้วยตัวเอง
คุณหมอภัทรภณแนะนำว่า "เราไม่ควรวิ่งทุกวันทั้งสัปดาห์ แม้จะทำได้ แต่ก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ควรมีวันพักบ้าง สำหรับคนเริ่มวิ่งใหม่ควรวิ่งวันเว้นวันก่อน ส่วนคนที่วิ่งมานาน อาจจะวิ่งได้ 5-6 วันต่อสัปดาห์ แล้วแบ่ง 1-2 วันมาออกกำลังกล้ามเนื้อ" "เราต้องรู้จักพื้นฐานร่างกายของตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความแข็งแรงของหัวใจ กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ ไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่เริ่มต้นออกกำลังกาย เพราะอยากสุขภาพดี แต่ภายหลังมักมีเรื่องของการแข่งขันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกับตัวเอง หรือแข่งกับคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราลืมพื้นฐานร่างกายของตัวเอง หากเป็นการวิ่ง เราก็จะเผลอเพิ่มความเร็ว หรือระยะทางที่มากเกินกว่าร่างกายจะรับไหว"
การเร่งทำความเร็ว และความตื่นเต้น ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ Sympathetic ทำงานมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักขึ้น เมื่อร่วมกับการเสียเหงื่อ เสียเกลือแร่ และความร้อน ทำให้โรคที่อาจซ่อนอยู่ในคนนั้น ๆ เช่น โรคหัวใจ ปะทุออกมา นำไปสู่หัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือ กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
"คนที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมัน โรคหัวใจ คนที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ คนอายุมาก และไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมาก่อน รวมไปถึงคนที่เคยมีอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น แน่นหน้าอก ควรตรวจร่างกายก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย" คุณหมอภัทรภณย้ำ อย่างไรก็ตามมีคนจำนวนมากไม่รู้ว่า ร่างกายมีความผิดปกติแอบแฝงอยู่ กว่าจะรู้ก็เมื่อลงสนาม และกลายเป็นเรื่องสายเกินแก้ ดังนั้นคุณหมอภัทรภณจึงอธิบายถึงสัญญาณอันตรายของร่างกายที่เราต้องระวัง
"ถ้าเหนื่อยผิดปกติ จากที่เคยทำแล้วไม่เหนื่อยกลับเหนื่อยมาก แน่นหน้าอก ใจสั่น รู้สึกหวิว ๆ หน้ามืด ปวดร้าวถึงหัวไหล่ ต้องระวังให้มาก เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจก็ได้ หรือถ้าเห็นใครมีอาการลอย ๆ วิ่งเซไปมา หอบเหนื่อยผิดปกติ พูดด้วยไม่รู้เรื่อง ก็ให้ระวังเหมือนกัน"
"ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้หยุดวิ่งทันที บอกคนรอบข้างให้รู้ รีบไปหาหมอ และห้ามขับรถไปเองเด็ดขาด" คุณหมอทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่องจำเป็นที่จะต้องรู้มากสุดคือ การศึกษาวิธี CPR หรือวิธีการกู้ชีพเบื้องต้นเอาไว้ว่า เป็นเรื่องที่อยากให้นักวิ่งทุกคนรู้ไว้ เพราะอาจได้ใช้ช่วยเพื่อนร่วมสนามด้วยกัน หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สสส.
Comments