ผักเชียงดากับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
อัปเดตเมื่อ 23 ก.ย. 2562
ผักเชียงดา ผักพื้นบ้านภาคเหนือของไทย นอกจากจะสามารถนำใบอ่อนและยอดอ่อนมาเป็นอาหารที่หลากหลายทั้งผักลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่ไข่ หรือใส่ในแกง แล้วยังมีสรรพคุณทางยาอันโดดเด่นในเรื่องของการลดน้ำตาลในเลือดได้

และหลายๆ คน คงเคยได้ยินข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจผักเชียงดาของไทยมากจนถึงขั้นมีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมันจากผักเชียงดา ทั้งรูปแบบของเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เนื่องจากมีการวิจัยและค้นพบว่า ในผักเชียงดามีสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ Gymnemic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล และชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก นอกจากนี้ Gymnemic acid ยังกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ที่บริเวณ Islets of Langerhans ในตับอ่อน กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าส่วนสกัดซาโปนินที่แยกที่ได้สารสกัด 75% เอทานอลของใบเชียงดา และสารไตรเทอร์ปีนอยด์จากผักเชียงดา สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งการนำกลูโคสจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral glucose tolerance test: OGTT) โดยป้อนสารนี้ให้แก่หนูแรทร่วมกับสารละลายกลูโคสขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 15 นาที และ 30 นาทีหลังการทดสอบตามลำดับ
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครปกติ พบว่าเมื่อดื่มชาที่เชียงดา (มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล.) ทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ และการรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน
จะเห็นได้ว่า ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาแผนปัจจุบันและต้องการรับประทานผักเชียงดา ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะเสริมฤทธิ์กับยา จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
ที่มา : จุลสารข้อมูลสมุนไพร