top of page

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า

อาการที่เป็นมากกว่าการเศร้าซึม

ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เรามักจะได้ยินข่าวคนปลิดชีพตัวเองด้วยเหตุที่เป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่คนในวงการบันเทิง และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวเหมือนโรคอื่นๆ แต่รู้หรือไม่ว่าจากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปีค.ศ.2017 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน


หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้ แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน

“อาการซึมเศร้า” หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ Depressive Episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้


สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม, ทางสภาพจิตใจ, ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันโดยปัจจัยดังต่อไปนี้


1. โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์

2. สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น

3. การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

4. ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคทางกาย (ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม ฯลฯ) ยารักษาโรคบางชนิด ปัญหายาเสพติด โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล ฯลฯ

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

- เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม

- รู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หม่นหมอง หงุดหงิด กังวลใจ ไม่สบายใจ

- รู้สึกตนเองไร้ค่ารู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา

- ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ

- เคลื่อนไหวช้างลง กระสับกระส่าย

- เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา

- ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง

- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น

- นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ

- มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม

- อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง

- คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย


วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า

- พยายามนำตัวออกมาจากสถานการณ์ที่ซับซ้อน

- อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ

- อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป

- ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด

- อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและมีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น

- อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าในชั่วข้ามคืน เพราะเป็นไปได้ยาก ไม่โทษตนเองว่าที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ

- บอกตัวเองอยู่เสมอว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น


การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม

ยารักษาโรคซึมเศร้า

ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตามยาบางตัวต้องค่อยๆ ลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน การดื่มแอลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง

ยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง อย่างที่กล่าวแล้ว แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

อ้างอิง ข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต, ร.พ.กรุงเทพ

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page