ไขข้อข้องใจ ปัสสาวะรักษาโรคได้จริงหรือ
ความจริงเป็นอย่างไร ปัสสาวะ รักษาโรคได้หรือไม่ ?

เป็นข้อถกเถียงและได้ยินกันมานานกับการกินปัสสาวะเพื่อรักษาโรค โดยมีการอ้างว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ล้างแผล ทาหน้า หยอดตาก็ยังได้ อีกทั้งกระแสกินฉี่รักษาโรคก็กลับมาฮ๊อตอีกครั้งว่า กินฉี่ดีจริงไหม รักษาโรคได้จริงหรือเปล่า
ทั้งนี้ ในกลุ่มที่เชื่อเรื่องปัสสาวะบำบัดได้อ้างอิงพระไตรปิฎกที่มีการระบุไว้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ใช้น้ำมูตรเน่า (ปัสสาวะ) รักษาภิกษุอาพาธ จึงมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย นำน้ำปัสสาวะมาดื่ม เพราะเชื่อว่าช่วยรักษาโรคได้
ประเด็นนี้ ทางฝั่งไม่เห็นด้วยมีความเห็นว่า ปัสสาวะเป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมา และในน้ำปัสสาวะยังมีสิ่งปนเปื้อนทั้งเชื้อโรค พยาธิ แบคทีเรีย เลือด และสารอื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้งการกินฉี่รักษาโรคหรือปัสสาวะบำบัด ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์มายืนยัน และอาจมีอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
มีแพทย์ออกมาให้ความเห็นกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง หมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ. ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ก็ได้เผยภาพปัสสาวะจากกล้องจุลทรรศน์ ที่ทำให้เห็นทั้งพยาธิ และเชื้อโรคหลายชนิด
ทางด้าน พล.ต.ต. ธนิต จิรนันท์ธวัช นายแพทย์ (สบ6) โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคไต ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโรงพยาบาลตำรวจ Police General Hospital ว่า โดยปกติปัสสาวะพร้อมจะมีเชื้อโรคเกิดขึ้นและเน่าเสียโดยง่าย ดังนั้นหากดื่มน้ำปัสสาวะที่เก็บอย่างไม่สะอาด หรือทิ้งไว้นาน จะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค และทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย และจะยิ่งอันตรายหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโทษรุนแรง หากดื่มน้ำปัสสาวะ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกมาเตือนประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข ถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีข้อมูลว่า การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับว่า กินฉี่รักษาโรคได้ ดังนั้นอย่าหลงเชื่อ นอกจากนี้การดื่มฉี่ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกมากมาย เช่น การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมการลุกลามของโรค และอาจเกิดอันตรายได้
ในน้ำปัสสาวะ มีอะไรบ้าง ?
ประกอบด้วย น้ำ 95%, ยูเรีย 9.3 g/L, คลอไรด์ 1.87 g/L, โซเดียม 1.17 g/L, โปตัสเซียม 0.750 g/L, ครีอะตินีน 0.670 g/L และสารละลายอื่น ๆ เช่น ของเสียที่ละลายน้ำได้ในปริมาณน้อย
กินฉี่ รักษาโรคมะเร็งได้ไหม ?
ประเด็นกินปัสสาวะรักษามะเร็ง ทางเพจโรงพยาบาลตำรวจ Police General Hospital ให้ข้อมูลว่า ความเชื่อนี้ยังไม่มีการยอมรับทางการแพทย์ รวมทั้งยังไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ใดที่พิสูจน์ว่า การดื่มน้ำปัสสาวะช่วยรักษาโรคมะเร็งได้จริง โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
กินฉี่ อันตรายไหม ในมุมมองของแพทย์ ?
การดื่มน้ำปัสสาวะอาจไม่ได้ทำให้เกิดโทษรุนแรง แต่เราก็พบอันตรายได้ ดังนี้
* คลื่นไส้ อาเจียนจากกลิ่นฉุนของปัสสาวะ
* ปวดท้อง เวียนศีรษะ ท้องเสีย จากการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและลำไส้
* กระหายน้ำ จากการได้รับเกลือแร่และของเสียเข้าสู่ร่างกาย
* อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในร่างกาย จากการปนเปื้อนเชื้อโรคในปัสสาวะ
* อาจได้รับสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย หากดื่มน้ำปัสสาวะหลังจากรับประทานยา หรือรับสารเคมีบางอย่างเข้าไป
* การดื่มน้ำปัสสาวะในผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจทำให้อาการของโรคลุกลามได้ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม
สุดท้ายอยากจะแนะนำว่า ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกรองรับว่าฉี่รักษาโรคได้จริง หรือฉี่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ แต่ที่แน่ๆ ในปัสสาวะมีทั้งเชื้อโรคและแบคทีเรียปะปนอยู่ จึงอยากให้พิจารณาถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ
ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข, อย., ไทย พีบีเอส