“โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ไม่ใช่โรคใหม่
“โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หมายถึง กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ หรือจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือผ่านพาหะ แต่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง โรคที่พบบ่อย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็ง เป็นต้น
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ร้อยละ 70 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในขณะที่ปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 75 เลยทีเดียว
วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม จัด และเพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ดี คิดบวก ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. เผยเคล็ดลับในการบริโภคอาหารที่ลดเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังว่า ปัจจุบันคนมักจะกินอาหารไม่เป็น โดยละทิ้งอาหารไทย ห่างไกลธรรมชาติ กินรสหวาน มัน เค็ม จัด มากขึ้น กินพืชผัก ผลไม้ น้อยลงและไม่เพียงพอ กินอาหารไม่ปลอดภัยปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรค และพยาธิมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น กินมากแต่เคลื่อนไหวน้อย กินอาหารนอกบ้านมากขึ้น ปรุงอาหารกินเองน้อยลง ความฉลาดรู้ด้านโภชนาการลดลง เข้าถึงอาหารดียากขึ้น และมีความเครียดสะสม
5 อาหารแนะนำ ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
1. กินครบ 5 หมู่ ให้พอเพียง และพอดี
2. เน้นกินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น เพราะปลามีโปรตีนที่มีคุณภาพ ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ มีโอเมก้า 3 ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแคลเซียมและแร่ธาตุที่สำคัญ ควรกินปลาเป็นประจำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนผักและผลไม้ เป็นอาหารที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งให้วิตามินและแร่ธาตุ อุดมด้วยใยอาหาร มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย
3. กินอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบจากธรรมชาตที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เลือกใช้อาหารสด ลดอาหารแช่แข็ง ลดอาหารหมักดอง
4. เลือกกินอาหารประเภทต้ม แกง ย่าง ยำ อบ นึ่ง หรือน้ำพริก ลดการกินของทอดและมัน
5. รสชาติอาหารไม่จัด ลด หวาน มัน เค็ม โดยกินตามสูตร 6 : 6: 1 ได้แก่ น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา
อ.สง่า ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดย ต้องฝึกเป็นมนุษย์อ่อนหวาน หัดเป็นมนุษย์รสจืด ลดนิสัยกินอาหารไขมันสูง และรสจัดอาหาร ดังนี้
1. ฝึกเป็นมนุษย์อ่อนหวาน โดย ต้องตระหนัก ว่าความหวานมีอันตราย เริ่มจากค้นหาอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตัวเองชอบกินที่มีรสชาติติดหวาน แล้วค่อย ๆ ลด หากลองทำภายในหนึ่งเดือนจะสามารถปรับพฤติกรรมได้
2. หัดเป็นมนุษย์รสจืด โดยต้องตระหนักว่า อาหารรสเค็มอันตราย ทั้ง เครื่องปรุงรสเค็ม ผงชูรส ผงฟู ล้วนเป็นแหล่งโซเดียมทั้งสิ้น ควรชิมก่อนปรุง และเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารเค็ม
3. ลดนิสัยกินอาหารไขมันสูง โดยต้องตระหนักว่า มันอันตราย เลี่ยงอาหาร ทอดและผัด ค้นหาอาหารที่มีไขมันสูงที่ตัวเองกิน แล้วค่อยๆ ลด แล้วเลือกกินอาหารประเภท ต้ม แกง นึ่ง ยำ หรือน้ำพริกแทน
4. ลดอาหารรสจัด และกินตามสูตร 6: 6: 1 ได้แก่ น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา
สูตรอาหารลดโรค
ควรรับประทานอาหารในสัดส่วน 2 : 1 : 1 ซึ่งประกอบไปด้วย ผัก 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และ แป้ง 1 ส่วน และปฏิบัติตามหลัก 3 อ 2 ส ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา เชื่อแน่ว่าหากทุกคนสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น ก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างแน่นอนค่ะ
Credit: สสส.
Comments